สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดสระบุรี ในปี 2548 พบว่าประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 160,697 บาท ต่อปี ซึ่งสูงกว่าในปี 2547 ร้อยละ 6.49 ดังรูปที่ 2.3-1 และสูงเป็นลำดับที่ 10 ของประเทศเป็นลำดับที่ 1 ของกลุ่มภาคกลาง โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม ตามราคาประจำปี 109,444 ล้านบาท สาขาการผลิตด้านอุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงสุดของสาขาการผลิตทั้งหมด คือ 63,136 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.69 รองลงมาได้แก่สาขาการค้าส่งและการค้าปลีก มีมูลค่าการผลิต 8,482 คิดเป็นร้อยละ 7.75 และสาขาการผลิตด้านการไฟฟ้า ก๊าซและการประปามีมูลค่าการผลิต 6,396 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.84 ตามลำดับ


มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด ตามราคาประจำปี เฉลี่ยต่อคน (บาท) พ.ศ. 2544 – 2548

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสระบุรีแยกรายสาขาปี พ.ศ. 2548

อุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 มีจำนวน ทั้งสิ้น 1,087 แห่ง เงินลงทุน 189,111.64 ล้านบาท และมีจำนวนคนงาน 62,255 คน เป็นชาย 42,866 คน เป็นหญิง 19,389 คน โดยมีรายละเอียดการประกอบการแยกหมวดอุตสาหกรรมดังตารางที่ 2.4-4 เมื่อพิจารณาถึงจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในแต่ละประเภท จะเห็นได้ว่า โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ร้อยละ 21.17 เป็นอุตสาหกรรมอโลหะ รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมขนส่ง ซึ่งมีประมาณร้อยละ 12.03 9.62 9.24 และ 7.50 ของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด ตามลำดับ
นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งพลังงาน เพื่อการอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมาก ได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน (BOI ZONE 2) ในปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม ที่เพียบพร้อมด้วยสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อการประกอบอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่
นิคมอุตสาหกรรมหนองแค (อ.หนองแค) มีเนื้อที่ 2,044 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 5 แห่ง ประเภทของอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานผลิตกระเบื้อง โรงงานผลิตเซรามิคส์ ฯลฯ
นิคมอุตสาหกรรมสระบุรี (อ.แก่งคอย) มีเนื้อที่ 2,600 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 1 แห่ง ประกอบกิจการ ผลิตแผ่นใยไม้อัด ND ความหนาแน่นปานกลาง
เขตอุตสาหกรรมเครือซิเมนต์ไทย (อ.หนองแค) โดยการจัดการของ บริษัท เอส ไอ แอล ที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด มีเนื้อที่ 3,500 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินกิจการ 30 แห่ง อยู่ระหว่าง การก่อสร้าง 4 แห่ง


ที่มา : สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี

อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากของจังหวัด ซึ่งพิจารณาจากขนาดกำลังการผลิตแล้ว พอจะสรุปเป็นกลุ่มหลักๆ ได้ดังนี้

1 อุตสาหกรรมก่อสร้างและเซรามิค มีประมาณ 338 โรง มีทั้งการผลิตวัสดุก่อสร้างประเภทฐานราก และวัสดุก่อสร้างประเภทตกแต่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ อุตสาหกรรมประเภทผลิตวัสดุประเภทฐานรากคือ ปูนซีเมนต์ โดยมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สำหรับโรงงานปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ในจังหวัดสระบุรี มีจำนวนทั้งสิ้น 9 โรง ได้แก่
บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
บริษัท ที พี ไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน)
บริษัท สระบุรีซีเมนต์ จำกัด
บริษัท สามัคคีซีเมนต์ จำกัด
อุตสาหกรรมเซรามิค ผลิตกระเบื้อง ดินเผา และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจังหวัดสระบุรีมีโรงงานประเภทดังกล่าวทั้งหมด 36 โรง โดยตั้งอยู่ในเขตอำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอย และอำเภอเมืองสระบุรี
โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต จังหวัดสระบุรีมีโรงงานประเภทดังกล่าว ทั้งหมด 122 โรง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระพุทธบาท และอำเภอเมืองสระบุรี
2 อุตสาหกรรมโลหะและอโลหะ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กเส้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง จังหวัดสระบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ และมีขนาดใหญ่หลายแห่ง ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านหมอ และอำเภอหนองแค
3 อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก อุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีลู่ทางแจ่มใสในการผลิตทั้งเพื่อการจำหน่ายภายในประเทศและการส่งออก จังหวัดสระบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้อยู่มากมายหลายแห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแก่งคอย
4 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีดำเนินกิจกรรมในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ อุตสาหกรรมฆ่าและชำแหละสัตว์ปีก (อำเภอแก่งคอย) โรงงานผลิตน้ำเชื่อม (อำเภอวังม่วง) โรงงานผลิตอาหารสัตว์ (อำเภอพระพุทธบาทและอำเภอหนองแค) โรงงานผลิตภัณฑ์น้ำนม (อำเภอมวกเหล็ก) นอกจากนั้นเป็นโรงงานผลิตน้ำแข็ง น้ำดื่ม กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดสระบุรี
เมื่อพิจารณาจำนวนและประเภทเหมืองแร่ในจังหวัดสระบุรี จะพบว่า หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างปี พ.ศ.2534-พ.ศ.2535 จำนวนเหมืองแร่และปริมาณการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและครอบคลุมเนื้อที่ที่ใช้ในการดำเนินงานมากที่สุด ทั้งอำเภอแก่งคอยและพระพุทธบาท มีจำนวนผู้ได้สัมปทานมากที่สุด โดยในปี พ.ศ.2544 จังหวัดสระบุรีมีเหมืองแร่อยู่ทั้งหมด 138 แห่ง ส่วนใหญ่จำนวน 59 แห่ง หรือร้อยละ 42.75 เป็นเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รองลงมาเป็นเหมืองแร่หินปูนและหินดินดาน และหินดินดานอย่างเดียวจำนวน 19 และ 15 แห่ง หรือร้อยละ 13.77 และ 10.87 ของจำนวนเหมืองแร่ทั้งหมดตามลำดับนอกนั้นเป็นเหมืองแร่ประเภทอื่นๆ อีกไม่มากนัก ในปี พ.ศ.2546 จังหวัดสระบุรี มีเหมืองแร่ที่มีสัมปทานและเปิดทำการ จำนวน 182 แห่ง คนงาน 1,753 คน และมีรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ จำนวน 92,150,223.99 บาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2545 จำนวน 20,149,937 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.9 แร่ธาตุที่สำคัญ คือ หินปูนใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์และหินดินดาน ซึ่งผลิตได้มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และยังมีแร่ชนิดอื่นๆ คือ หินปูนที่ใช้ในอุตสาหกรรมหินอ่อน ดินมาร์ล เป็นต้น นอกจากนี้จังหวัดสระบุรี ยังมีท่อน้ำมันจากศรีราชาถึงจังหวัดสระบุรี โดยมีบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียม หรือชื่อย่อ Tappline เป็นผู้ดำเนินการ เส้นทางท่อส่งน้ำมันของ Tappline มีความยาวทั้งสิ้น 252 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสถานีสูบถ่ายต้นทางคลังน้ำมัน ปตท. ที่ศรีราชา และส่งไปยังคลังน้ำมันลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ขนาดความจุ 120 ล้านลิตร จากคลังลำลูกกาท่อจะแยกส่งน้ำมันไป 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือ บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพที่ดอนเมือง หรือ BAFS อีกแห่งหนึ่งจะเป็นท่อส่งน้ำมันที่ทอดตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไปสุดที่คลังน้ำมันสระบุรีความจุ 160 ล้านลิตร แหล่งพลังงานที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง ได้แก่ การมีท่อก๊าซธรรมชาติจากทะเลจังหวัดระยองมายังอำเภอหนองแค หินกอง และอำเภอแก่งคอย ผู้รับผิดชอบการให้บริการได้แก่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เส้นทางการเดินท่อก๊าซ ดังกล่าวเริ่มจากการนำก๊าซจากทะเลมาขึ้นที่จังหวัดระยอง จากนั้นเข้าสู่โรงแยกก๊าซแล้วเดินท่อต่อไปยังจังหวัดชลบุรีเข้าสู่โรงไฟฟ้าบางประกงไปสิ้นสุดที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากท่อก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานอุตสาหกรรมประเภทเซรามิกส์ กระเบื้อง ปูนซีเมนต์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแก่งคอยและหินกอง

https://www.saraburi.go.th/logis/logistics/pan14.html อ้างอิงแหล่งข้อมูล